NEWS

CONSTRUCTION NEWS > ปิดดีลแล้ว “กาญจนพาสน์” ตอกเสาเข็มรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าเมืองทอง
ปิดดีลแล้ว “กาญจนพาสน์” ตอกเสาเข็มรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าเมืองทอง
22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10:32 น.

หลังรอคอย 2 ปีในที่สุด “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อบีทีเอสได้จับปากกาเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทอง หลัง”ครม.-คณะรัฐมนตรี”อนุมัติโครงการวันที่ 9 ก.พ. 2564  ที่ผ่านมา

ลงทุน4.2 พันล้านเชื่อมเมืองทองธานี

เป็นข้อเสนอพิเศษที่กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป เสนอลงทุนเพิ่มเติมจากสายสีชมพูส่วนหลักแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ที่ได้สัมปทานก่อสร้างและเดินรถ 33 ปี รวมเป็นระยะทาง 37.5 กม. 32 สถานี

แนวเส้นทางส่วนต่อขยายสร้างเป็นทางยกระดับตั้งต้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อสถานีศรีรัชของสายสีชมพูส่วนหลักช่วงแคราย – มีนบุรี มุ่งหน้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 แนวเดียวกับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยเสาตอม่อรถไฟฟ้าจะอยู่ตรงกลาง

ผ่านวงเวียนจะเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 บริเวณอิมแพค เมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี เป็นที่ตั้งของสถานี MT-02 ระยะทางประมาณ 3 กม. มี 2 สถานี

ขณะที่เงินลงทุนล่าสุดเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 4,230 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายขอใช้พื้นที่วางตอม่อ 100% และคานรถไฟฟ้าที่เลาะขนานไปกับทางด่วนอีก 55% ให้ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” โดยเอกชนรับผิดชอบการลงทุนทั้งค่าเวนคืนและก่อสร้าง

“อนุทิน” ประธานเซ็นสัญญา 23 ก.พ.

การเซ็นสัญญาจะมีขึ้นเวลา 15.00 น.ในวันที่ 23 ก.พ.2564 ที่กระทรวงคมนาคม มี “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เป็นเจ้าภาพ มีบิ๊กเนมพรรคภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีกำกับกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานและสักขีพยาน

คีรีสานฝันพี่ชาย “อนันต์ กาญจนพาสน์”

ขณะที่ “คีรี” ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมเซ็นสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เพราะรอมาตั้ง 2 ปีกว่าจะเจรจาลงตัว ที่สำคัญเป็นการสานฝันให้”อนันต์ กาญจนพาสน์”พี่ชายที่ล่วงลับไปแล้วที่เคยเสนอโครงการให้รัฐบาลพิจารณา หลังสามารถฟื้นฟูกิจการของ”บางกอกแลนด์”ปลุกปั้นอาณาจักรเมืองทองธานี 4,000 ไร่ ที่เคยหลับไหลกลับมาผงาดอีกครั้งเมื่อปี 2555

ครั้งนั้น”อนันต์”คาดการณ์จะมีผู้เข้ามาใน”อิมแพ็ค”เพิ่มขึ้นจากปีละ 15 ล้านคนเป็นกว่า 25 ล้านคนต่อปี จึงหารือกับ”รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”ให้ต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะสร้างบนถนนแจ้งวัฒนะให้ต่อเข้ามายังเมืองทองธานี ซึ่งรฟม.ตีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท โดย”อนันต์”ขอให้รัฐออกเงินลงทุน”คนละครึ่ง”แต่ก็ถูกปัดตก จนมาได้ข้อยุติหลัง”คีรี”ผู้น้องคว้าสัมปทานสายสีชมพู

บีแลนด์ช่วยลงทุน “คนละครึ่ง”

จากนั้นในเดือนพ.ย.2559 “อนันต์”ประกาศตัวอย่างเป็นทางการจะร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการลงนามสัญญาสนับสนุนส่วนต่อขยายสายสีชมพูเข้าเมืองทองธานีกับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) หลัง BTS ได้รับสัมปทานสายสีชมพู และรฟม.อนุมัติให้สร้าง

โดยบริษัทรับผิดชอบวงเงินลงทุนไม่เกิน 1,250 ล้านบาท ก่อสร้างระบบรางเฉพาะเส้นทางส่วนต่อขยายเข้าสู่เมืองทองธานี และสถานี 2 แห่ง บริเณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และบริเวณริมทะเลสาป พร้อมเงิน 10 ล้านบาทต่อปี สนับสุนนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 30 ปี

ปัจจุบัน”บีแลนด์”มีที่ดินเหลือ 600 ไร่ ติดริมทะเลสาบเมืองทองธานี ที่กำลังรีวิวแผนการลงทุนใหม่ รับรถไฟฟ้าสายดังกล่าว

โดยจะร่วมพันธมิตรทีเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจแต่ละส่วน จากเดิมที่จะลงทุนธุรกิจรีเทล ช็อปปิ้งมอลล์ อาคารสำนักงาน รวมถึงธุรกิจสวนน้ำขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท

ด้าน”คีรี”ก่อนหน้าระบุว่า เมื่อครม.อนุมัติโครงการ จะหารือร่วมบมจ.บางกอกแลนด์ (บีแลนด์) ถึงสัดส่วนการลงทุน และรูปแบบการลงทุนที่จะร่วมกัน เช่น บีแลนด์อาจจะลงทุนมากกว่าเราหรือลงทุนทั้งหมดก็ได้

เนื่องจากโครงการผ่านมานานแล้ว อาจจะทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งสายสีชมพูต่อขยายเข้าเมืองทองเมื่อแล้วเสร็จเปิดบริการ จะเป็นการสร้างเมืองและเป็นโครงการที่จะช่วยรองรับการเดินทางของชุมชนในเมืองทองธานี

“บีทีเอสจะได้โครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่ม ขณะที่บีแลนด์จะต่อยอดการพัฒนาที่ดินในเมืองทองธานี มีคนอยู่อาศัยประมาณ 1.5 แสนคนและรองรับผู้เข้าชมงานในอิมแพ็ค 10-15 ล้านคนต่อปี”นายคีรีกล่าวย้ำ

สำหรับไทม์ไลน์การก่อสร้าง หลังเซ็นสัญญาคาดว่ารฟม.จะส่งมอบพื้นที่เพื่อเริ่มงานก่อสร้างประมาณเดือนมิ.ย.นี้ จะใช้เวลาสร้าง 37 เดือน แล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2567 คาดการณ์ผู้โดยสารเบื้องต้น 13,785 เที่ยวคนต่อวัน

จะเปิดช้าจากสายหลักมีกำหนดจะเปิดได้ตลอดสายในปี 2565หรืออย่างช้าต้นปี2566 เนื่องจากิดโควิดและพื้นที่ก่อสร้างช่วงแยกแครายที่ปรับตำแหน่งสถานีใหม่

ค่าโดยสาร 14-42 บาท

ด้านค่าโดยสารทั้งส่วนหลักและต่อขยายจะเก็บตามระยะทางเริ่มต้น 14 บาท คิดเพิ่ม 2.55 บาทต่อกิโลเมตร สูงสุดไม่เกิน 42 บาทตลอดสาย หากเดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้าของรฟม.จะไม่เสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรีเปิดบริการในปี2565 คาดว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 199,054 เที่ยวคนต่อวัน และเมื่อเปิดส่วนต่อขยายผู้โดยสารเพิ่มมากกว่า 30% หรือผู้โดยสารกว่า 2 แสนเที่ยวคนต่อวัน

รฟม.ได้รับ 250ล้าน-ส่วนแบ่งรายได้ 20-40%

โดย”บีทีเอส”จะแบ่งรายได้ของสายสีชมพูทั้งหมด
ให้”รฟม.”คิดตามความผันแปรของปริมาณผู้โดยสาร หากเพิ่มมากกว่า 30-50% ต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. 20% เพิ่มมากกว่า 50% ต้องแบ่ง 40%

นอกจากค่าตอบแทนตามสัญญาหลัก 250 ล้านบาท ตั้งแต่ปีที่ 11-30 แบ่งจ่ายปีที่ 11-15  ที่ 5 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 16-20 แบ่งจ่าย ที่ 10 ล้านบาทต่อปี, ปีที่ 21-25 แบ่งจ่ายที่ 15 ล้านบาทต่อปี และปีที่ 26-30 แบ่งจ่ายที่ 20 ล้านบาทต่อปี

ที่มา :: ประชาชาติธุรกิจ

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved