NEWS

CONSTRUCTION NEWS > เข็นรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเปิดใช้ปี’70
เข็นรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเปิดใช้ปี’70
02 April 2021 เวลา 10:03 น.

คืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน “กทม.-โคราช” เซ็นเพิ่ม 3 สัญญา กว่า 2.7 หมื่นล้าน ร.ฟ.ท.เร่งเคลียร์ปม 4 สัญญาที่เหลือ ติดปมร้องศาล ชงบอร์ดเจรจา “ยูนิค” สร้างช่วง “ดอนเมือง-นวนคร” หลังผู้ชนะไม่ยืนราคา เร่งถก CP สรุปแบบทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองให้จบปีนี้ “ศักดิ์สยาม” ลั่นเปิดหวูดปี’69-70 ลุยออกแบบเฟส 2 ช่วง “โคราช-หนองคาย” ให้เสร็จ ก.ค.นี้ ลงทุน 2.5 แสนล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ได้ลงนามในสัญญางานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 27,527 ล้านบาท

ได้แก่ สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN (บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่นฯ, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นคู่สัญญา, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นคู่สัญญา และสัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. วงเงิน 9,428.99 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน เป็นคู่สัญญา

“ทั้ง 3 สัญญาจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ในปีนี้ ทำให้ภาพรวมของโครงการขณะนี้ลงนามก่อสร้างแล้ว 10 สัญญา เหลือ 4 สัญญา ติดขัดด้านข้อพิพาทกับเอกชน จะพยายามเร่งรัดให้เซ็นสัญญาในปีนี้ สำหรับการเปิดบริการ ตอนนี้วางเป้าไว้ในปี 2569-2570”

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า สำหรับ 4 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนาม ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.กว่า 10,000 ล้านบาท ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะสรุปความชัดเจนการทำสถานีร่วมของทั้ง 2 โครงการในปีนี้

ขณะที่สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. ราคากลาง 10,917 ล้านบาท เดิมกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากรเสนอราคาต่ำสุดที่ 8,626 ล้านบาท แต่ไม่ยืนราคาตามกำหนด ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังพิจารณาเรื่องนี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

นอกจากนี้กระทรวงกำลังเร่งแบบรายละเอียดรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 250,000 ล้านบาท คาดว่าในเดือน ก.ค.นี้แบบเบื้องต้นจะเสร็จ จากนั้นดูปัญหาอุปสรรค ซึ่งให้นโยบายว่า แนวเส้นทางไม่ควรเข้าไปในเขตชุมชน ให้ใช้ทางเลี่ยงเมือง เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนของประชาชนและการขยายการพัฒนาออกไป จะทำให้งบประมาณไม่เพิ่มขึ้น

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รับทราบถึงปัญหาสัญญาที่ 4-2 ที่ผู้รับเหมาไม่ยืนราคาแล้ว แนวทางที่จะดำเนินการต่อไปคือ เชิญผู้เสนอราคาต่ำสุดลำดับถัดไปมาเจรจา คือ บมจ.ยูนิคฯ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติในเร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ที่ติดข้อพิพาทที่ศาลปกครองขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอศาลมีคำพิพากษา ส่วนสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633 ล้านบาท ซึ่งลงนามกับประเทศจีนเมื่อเดือน ต.ค. 2563

ขณะนี้จีนส่งความคืบหน้างานออกแบบแล้ว แต่มีปัญหาการเบิกจ่ายเพราะจีนเตรียมเอกสารไม่ครบ ซึ่งการออกแบบยังอยู่ในกรอบเวลา 10 เดือน คาดว่าจะลงนามในหนังสือส่งมอบงาน (NTP) ฉบับที่ 2 ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า และผลิตขบวนรถ 48,933 ล้านบาท ส่วนฉบับที่ 3 ฝึกอบรมบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี 1,000 ล้านบาท จะส่งมอบ NTP ต่อเมื่องานใน NTP ฉบับที่ 2 เริ่มงานไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟไทย-จีน แบ่งสร้าง 14 สัญญา เสร็จแล้ว 1 สัญญา ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. และอยู่ระหว่างสร้าง 6 สัญญา

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved