NEWS

CONSTRUCTION NEWS > ซุ่มศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้า 3 จังหวัด เชื่อมระบบราง
ซุ่มศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้า 3 จังหวัด เชื่อมระบบราง
18 August 2022 เวลา 15:33 น.

“กรมขนส่ง” กางแผนศึกษาศูนย์ขนส่งสินค้า 3 จังหวัด มุกดาหาร-สุราษฎร์ธานี-หนองคาย หนุนระบบขนส่งทางราง รองรับไฮสปีดไทย-จีน-ลาว เผยคืบหน้าศูนย์ขนส่งสินค้านครพนม 1.3 พันล้าน ดึงเอกชนลงนามร่วมทุนปีนี้ เตรียมเวนคืน 121 ไร่ ลุยตอกเสาเข็มปี 66

นายจิรุตม์  วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมฯ มีแผนแม่บทโครงการศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าในจังหวัดอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งหมด 3 จังหวัด  ประกอบด้วย หนองคาย, สุราษฎร์ธานี,มุกดาหาร เบื้องต้น โครงการศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดหนองคาย ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ให้กรมฯช่วยพิจารณาโครงการฯ เพราะเป็นศูนย์ขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุด โดยกรมฯมีนโยบายมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการเพื่อดำเนินการเวนคืนที่ดินให้น้อยที่สุด เนื่องจาก รฟท.มีโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าบริเวณสถานีนาทา ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสินค้าและรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมทั้งโครงการรถไฟลาว-จีน ในอนาคต 

ขณะที่แผนแม่บทโครงการศึกษาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า จังหวัดสุราษฎร์ธานีและมุกดาหาร ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างทบทวนผลศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯใหม่ควบคู่กับการศึกษาในการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เนื่องจากผลการศึกษาเดิมเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ตอบโจทย์ในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางราง ทำให้ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการฯอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงระบบขนส่งทางรางมากที่สุด 

ทั้งนี้สาเหตุที่กรมฯเลือกศึกษาพื้นที่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและแหล่งวัตถุดิบในการขนส่งสินค้าทางภาคใต้ ซึ่งจากการประเมินถือเป็นแหล่งที่เหมาะสมที่สุดและเป็นศูนย์การขนส่งที่ใกล้จังหวัดอื่นๆด้วย  ส่วนสาเหตุที่เลือกศึกษาจังหวัดมุกดาหาร เพราะเป็นจังหวัดที่เชื่อมต่อกับสะหวันเขต ประเทศ สปป.ลาว และเชื่อมต่อประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเร่งรัดศึกษาทั้ง 2 โครงการฯให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ด้านความคืบหน้าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดนครพนม วงเงินรวม 1,361 ล้านบาท พื้นที่รวม 121 ไร่ ที่ผ่านมากรมฯได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (PPP Net cross) ขณะนี้กรมฯได้จัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ผ่านการยื่นข้อเสนอและส่งร่างสัญญาต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเสร็จ ปัจจุบันทราบว่าทางสำนักงานอัยการสูงสุดมีความคิดเห็นให้ปรับข้อมูลเล็กน้อย คาดว่าจะดำเนินการให้เรียบร้อยได้เร็วๆนี้ โดยจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ภายในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในปี 2565 

สำหรับเอกชนทั้งหมด 6 ราย ที่เข้าซื้อซองประมูลศูนย์ขนส่งนครพนม ประกอบด้วย 1.บริษัท ชาญนครวิศวกรรม จํากัด  2. บริษัท วีอาร์ไพล์ จำกัด 3. บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด 4. บริษัท ไพโอเนียร์ โกลบอล ซัพพลาย จำกัด 5. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และ6. บริษัท สินธนโชติ จำกัด โดยมีบริษัทที่ยื่นข้อเสนอของโครงการฯ จำนวน 1 ราย คือ บริษัท สินธนโชติ จำกัด 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า หากลงนามสัญญาแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการฯระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นผู้เริ่มดำเนินการเตรียมพื้นที่เวนคืนที่ดินและระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 685 ล้านบาท เพื่อเริ่มก่อสร้างภายในปี 2566  ก่อนภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินการลงทุนก่อสร้างโครงการฯ เพิ่มเติม วงเงิน 676 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าและเครื่องมือการใช้งาน รวมทั้งการก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ในพื้นที่ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568  

ทั้งนี้เอกชนที่เข้าร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ขนส่งสินค้า จังหวัดนครพนม จะต้องรับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และเครื่องมือและอุปกรณ์ และเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) ในส่วนอาคารที่อยู่ในความรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปีนับจากปีเปิดให้บริการ

ที่ผ่านมากรมฯ ได้ดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้วเสร็จ โดยจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ถูกเวนคืนครบทุกรายเรียบร้อยแล้ว และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565-2567 สำหรับดำเนินการก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้างในส่วนที่ภาครัฐรับผิดชอบ ซึ่งได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ก่อสร้างอยู่ในท้องที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ขนาดเนื้อที่ประมาณ 121 ไร่ 3 งาน 67.6 ตารางวา  มีผู้ถูกเวนคืนจำนวน 31 ราย (46 แปลง) ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 126.06 ล้านบาท

สำหรับโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จัดเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ตั้งอยู่ที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งทำหน้าที่รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม - จีนตอนใต้ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) รวมถึงรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

 

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved