NEWS

CONSTRUCTION NEWS > รื้อย้ายไฮสปีด EEC บาน 4 พันล. “คีรี” ย้ำ 3 แสนล. คว้าอู่ตะเภาคุ้ม
รื้อย้ายไฮสปีด EEC บาน 4 พันล. “คีรี” ย้ำ 3 แสนล. คว้าอู่ตะเภาคุ้ม
05 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14:55 น.

รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน งบฯบาน 4 พันล้าน ชงบอร์ดอีอีซีเคาะผงะ “ท่อไซฟ่อน-สายไฟแรงสูง” ไม่ฟันธง ซี.พี.ตอกเข็มปี 63 เมืองการบินอู่ตะเภา “กลุ่มหมอเสริฐ-บีทีเอส” ลุ้นเจรจาซอง 4 ปิดดีล มี.ค. หลังชนะขาด 3.05 แสนล้าน “กัลฟ์-ปตท.-ไชน่าฮาร์เบอร์” ลุ้นแหลมฉบังเฟส 3

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่ารวม 6.5 แสนล้านบาท คืบหน้าต่อเนื่อง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 225,544 ล้านบาท ที่เซ็นสัญญากับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม ซี.พี.) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 อยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ

งบรื้อย้ายสาธารณูปโภคบาน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่ม ซี.พี. คู่สัญญาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ส่งแบบก่อสร้างให้ ร.ฟ.ท.แล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีระบบสาธารณูปโภคกีดขวางกี่จุด และให้หน่วยงานเจ้าของ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และ บมจ. ปตท.จัดทำแบบรายละเอียดการรื้อย้ายโดยต้องใช้งบฯของรัฐน้อยที่สุด

“ล่าสุดพบระบบสาธารณูปโภคใหม่ และมีขนาดใหญ่กีดขวางเพิ่ม 2 จุด ได้แก่ ท่อไซฟ่อนน้ำขนาดใหญ่ บริเวณคลองสามเสน ของสำนักการระบายน้ำ กทม. ค่ารื้อย้าย 2,000 ล้านบาท และสายไฟแรงสูงในค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี ทาง กฟภ.กำลังสำรวจ คำนวณค่าใช้จ่าย”

ชงบอร์ดอีอีซีเคาะงบ 4 พัน ล.

ส่งผลให้กรอบวงเงินจัดการระบบสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจาก 490 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา ก.พ.นี้

“การรื้อย้ายจะใช้งบฯรัฐภายใต้โครงการอีอีซี แต่มีบางหน่วยที่ใช้งบฯของตัวเอง เช่น กฟผ. และได้ให้แต่ละหน่วยงานเตรียมพร้อมเบิกจ่ายเงินไปดำเนินการทันทีเมื่อ กพอ.อนุมัติ ส่วนไหนเสร็จก่อนจะให้กลุ่ม ซี.พี.เข้าพื้นที่ทันที ส่วนจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ได้หรือไม่ ยอมรับว่ายาก เพราะการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคไม่ง่าย”

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า กำลังตรวจสอบแบบก่อสร้างและออกแบบในรายละเอียด (detail design) ร่วมกับกลุ่ม ซี.พี. ยังไม่ได้หารือการจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) 10,671 ล้านบาท แม้จะพร้อมจะส่งมอบในทันที เพราะตามสัญญาให้เวลา 2 ปี

ยอดบุกรุก-เวนคืนไม่เพิ่ม

ตามข้อตกลงแบ่งพื้นที่ส่งมอบเป็น 3 ส่วน 1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กม. โครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิม พร้อมส่งมอบทันที และเอกชนต้องจ่ายเงินทันที 2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ส่งมอบใน 2 ปี แต่จะเร่งให้ได้ 1 ปี 3 เดือน 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. ส่งมอบใน 4 ปี จะเร่งรัดใน 2 ปี 3 เดือน โดยช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะเปิดบริการปลายปี 2566 และช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมืองปี 2567-2568

“ยังมีพื้นที่ถูกบุกรุก เวนคืน ซึ่งอยู่ระหว่างสำรวจ ยอดผู้บุกรุกไม่มีเพิ่มจากเดิม 513 ราย คิดเป็นพื้นที่ 210 ไร่ พื้นที่เช่ามี 210 ไร่ สัญญาเช่า 83 ราย ส่วนเวนคืนเท่าที่ตรวจสอบแบบของกลุ่ม ซี.พี.ยังไม่พบต้องเวนคืนเพิ่ม ยังคงเวนคืน 850 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง ค่าเวนคืน 3,570 ล้านบาท การรื้อเสาโฮปเวลล์ 228 ต้น ก็เป็นหน้าที่ของกลุ่ม ซี.พี.”

BTS-หมอเสริฐชนะอู่ตะเภา

ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ วงเงิน 2.9 แสนล้านบาท ล่าสุด พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ เปิดเผยว่า วันที่ 30 ม.ค. 2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณารายละเอียดข้อเสนอราคาทั้ง 3 รายแล้ว พบว่ากลุ่ม BBS (บมจ.การบินกรุงเทพ-บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-บมจ.ซิโน-ไทยฯ) เสนอผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุด จากนี้จะมีหนังสือแจ้งผลให้ทั้ง 3 รายทราบ และเชิญกลุ่ม BBS มาจัดทำรายละเอียดร่างสัญญา และด้านเทคนิค จะแล้วเสร็จเดือน มี.ค.นี้

ตั้งคณะทำงานเจรจาให้จบ มี.ค.นี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาต่อรองราคากลุ่ม BBS ตรวจสอบโมเดลการเงินที่เสนอให้รัฐ 50 ปี คิดเป็นวงเงินปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท

“กลุ่ม BBS มีข้อเสนอซองที่ 4 เป็นข้อเสนออื่น ๆ อยู่ที่คณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดและนำมาพิจารณาหรือไม่”

โดยกองทัพเรือวางกรอบการเจรจากับกลุ่ม BBS ไว้ 2 เดือน คือ เดือน ก.พ.-มี.ค. หลังจากนั้นเดือน เม.ย.-พ.ค.จะส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ จึงจะเสนอบอร์ด กพอ.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

 

 

คีรีและพันธมิตรพร้อมสุดขีด

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ที่กลุ่ม BBSเสนอผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุด 3.05 แสนล้านบาท เพราะมั่นใจว่าจะสร้างรายได้แบ่งผลตอบแทนให้รัฐได้ตามที่เสนอใน 50 ปี จะเริ่มจากน้อยไปหามาก ปรับเพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้ เนื่องจากการลงทุนโครงการจะทยอยลงทุนเป็นเฟส

“เรามีข้อเสนอซองที่ 4 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการให้ดียิ่งขึ้น เป็นการทำเพิ่ม แต่ไม่ใช่เงื่อนไขพิเศษที่ขอเพิ่มนอกเหนือทีโออาร์แน่นอน แต่ยังไม่ขอเผยรายละเอียด พันธมิตรทั้งบางกอกแอร์เวย์ส ซิโน-ไทยฯก็พร้อมจะลงทุนโครงการนี้”

นายคีรีย้ำว่า การตัดสินใจลงทุนในเมืองการบินอู่ตะเภาของบีทีเอสกรุ๊ป เพื่อต่อยอดให้กับธุรกิจในเครือ ทั้งด้านอินฟราสตักเจอร์ อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ เนื่องจากอู่ตะเภาไม่ได้มีเฉพาะสนามบิน แต่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องมาก

5 ก.พ.กัลฟ์-ปตท.แจงแหลมฉบัง

ด้านเรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า กำลังพิจารณาผลประกวดราคาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ซึ่งวันที่ 24 ม.ค.ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 ผลประโยชน์ตอบแทนของกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง แต่ยังไม่สรุป คณะกรรรมการมีข้อสงสัยจึงให้ชี้แจงอีกครั้ง วันที่ 5 ก.พ. ส่วนการประกาศผลการคัดเลือกต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่กลุ่ม NPC ยื่นฟ้องก่อน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Admin TCA
Follow Us

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

Copyright By Wolves Corporation, All Right Reserved