สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
เดิมสมาคมนี้เรียกว่า “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” จดทะเบียนเป็นสมาคมตามพระราชบัญญัติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2471 โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
หมายเหตุ : ก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 ปีมาแล้ว ในกรุงสยามได้เคยตั้งสมาคมมาแล้ว แต่สมาชิกโดยมากเป็นชาวต่างประเทศ มีคนไทย 2 คนเท่านั้นได้เคยมีการประชุมและปาฐกถา แต่ต่อมาพบน้อยเข้าทุกทีจนเลิกไปเงียบๆ
ยุคที่สอง เปลี่ยนชื่อสมาคมครั้งที่ 1 ต่อมาในปีพ.ศ. 2479 ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการปรับองค์กร และเปลี่ยนชื่อสมาคมใหม่เป็น “สมาคมนายช่างแห่ง ประเทศไทย” คำต่อท้ายในพระบรมราชูปถัมภ์หายไปโดยยังไม่ทราบเหตุผลและหาหลักฐานไม่ได้ ในยุคนี้ หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ เป็นนายกสมาคม นายสง่า วรรณดิษฐ์ และนายบุญทอง ผ่องสวัสดิ์ ตามลำดับ จวบจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สมาคมถูกบังคับให้หยุดการดำเนินกิจการโดยเด็ดขาด กิจการของสมาคมได้หยุดชะงักไปอีกช่วงหนึ่ง ยุคที่สาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามสงบทั้งในแถบเอเชียและแปซิฟิค ประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยขึ้นและนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นปีทองของการก่อสร้าง เพราะการก่อสร้างได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางโดยการพัฒนาให้ กรุงเทพฯ และเมืองอื่น ๆ ทันสมัยขึ้น ระยะแรกหลังจากสงครามสงบ หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการ ท่านได้เริ่มฟื้นฟูกิจกรรม ของสมาคมนายช่างเหมาแห่งประเทศไทยขึ้นครั้งแรก หลังจากนั้น นายสง่า วรรณดิษฐ์ ก็ได้รับเลือกขึ้นเป็นนายกสมาคมอีกวาระหนึ่งและ ในคราวนี้ สมาคมได้ย้ายที่ทำการจากเดิมมาใช้สถานที่ร่วมกับ สภาหอการค้าไทย ที่ถนนราชบพิธ ในช่วง 2 – 3 ปี หลังจากสงครามนี้เอง ที่สมาคม ได้พยายามที่จะขยายขอบเขตกิจกรรมออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้ง พัฒนาความรู้ในด้านเทคโนโลยีและระบบบริหารไปพร้อม ๆ กันด้วย
ในช่วงนี้เอง ในการประชุมที่ฮ่องกง พ.ศ. 2508 ที่สมาคมฯ ได้เข้า เป็นสมาชิกของสหพันธ์ผู้รับเหมาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตะวันตก การที่สมาคมได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ ในครั้งนี้ทำให้ สมาคมมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมในระดับนานาชาติ และมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคนิคในหมู่สมาชิกด้วยกัน จึงเท่ากับ เป็นการเพิ่มทักษะและความรู้เรื่องวงการก่อสร้างให้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นสมาชิกสหพันธ์ฯ ยังมีโอกาสที่จะเข้าร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ในการเข้าร่วมประมูลกับรัฐบาลหรือบริษัทต่างชาติซึ่งไม่มีข้อบังคับมากเท่าแต่ก่อนด้วย การเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญที่สุดของสมาคม ได้เกิดขึ้นในปี 2509 เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจการค้าซึ่ง ระบุว่าธุรกิจเอกชนและสมาคมจะต้องจดทะเบียนการค้าอีกครั้งหนึ่งกับกรมการค้าภายใน เปลี่ยนชื่อสมาคมครั้งที่ 2 ”สมาคมนายช่างแห่งประเทศไทย” ได้ทำการจดทะเบียนใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2509 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นที่รู้จักกัน ว่า “สมาคมนายช่างเหมาไทย” และได้ย้ายที่ทำการไปตั้งอยู่ ณ เลขที่ 110 ถนนวิทยุ ในปี 2510 ตราบเท่าทุกวันนี้ เปลี่ยนชื่อสมาคมครั้งที่ 3 ต่อมาในยุคสมัยนายมานะ กรรณสูต เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2526 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อสมาคมเพื่อความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งเป็น “สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” และชื่อนี้ยังคงใช้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
12 ธันวาคม พ.ศ. 2471 จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม 28 ธันวาคม พ.ศ. 2471 ได้มีการประชุมใหญ่สมาชิกคือผู้เริ่มตั้งสมาคมเป็นครั้งแรกที่วังพญไท เพื่อเลือกตั้งกรรมการอำนวยการประจำพ.ศ.2471และได้มีการอัญเชิญ นายพลเอกพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวง กำแพงเพ็ชรอรรคโยธิน นายพลโท หม่อมเจ้าเสริฐสิริ และมหาอำมาตย์ตรี พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม และที่ประชุมใหญ่ได้พร้อมกันตกลงอัญเชิญเสด็จ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอรรคโยธินเป็นนายก และหม่อมเจ้าเสริฐสิริกับพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ เป็นอุปนายกของสมาคมด้วย เพื่อเป็นเกียรติยศและสวัสดิมงคลต่อสมาคม * รายพระนามและนามคณะกรรมการอำนวยการ ปี พ.ศ. 2471 ปีที่ 1 *
3 มกราคม พ.ศ. 2472 สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยามได้มีการจัดเลี้ยงฉลองที่วังสุโขทัย นายกกิตติมศักดิ์ ได้มีพระดำรัสในงาน เลี้ยงของสมาคม 31 มีนาคม พ.ศ. 2472 นายพลเอก พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอรรคโยธิน นายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมได้ทรงนำคณะกรรมการ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่วังสุโขทัย เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภ์ของสมาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณรับสมาคมนายช่าง เหมาแห่งกรุงสยามเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งนี้นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงแก่นายช่างทั้งปวง ตั้งแต่นั้นมา กิจการของสมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ดำเนินมาด้วยดี จนกระทั่งปี 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กิจการของสมาคมได้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง