สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่อยู่ 110 อาคารโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ชั้น 3 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โครงการลงทุนภาครัฐ นับเป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่าภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล “เศรษฐา 1” โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงคมนาคมยังไม่ถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีเพียง 1 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการค้างท่อจากรัฐบาลก่อน แต่ปัจจุบันสถานะโครงการก็ยังคงไม่ประกาศประกวดราคา ขณะที่กระทรวงคมนาคมประกาศแผนดำเนินงานในปี 2567 ยอมรับว่าความท้าทายคือการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า คาดการณ์ว่าจะได้รับอนุมัติในเดือน พ.ค.2567 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้
ดังนั้นในช่วง 5 เดือนแรกของปี จะยังไม่เห็นการเปิดประมูล หรือลงทุนอย่างคึกคัก เพราะจะเดินหน้าได้เพียงโครงการลงทุนที่ใช้งบประมาณส่วนอื่น อาทิ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) และเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่พร้อมเปิดประกวดราคา ได้แก่ โครงการทางพิเศษฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปีหน้ามีโครงการลงทุนสำคัญของกระทรวงฯ 72 โครงการที่จะต้องเร่งรัดการลงทุน แม้ว่างบประมาณปี 2567 จะดีเลย์ออกไป แต่กระทรวงฯ ได้กำชับทุกหน่วยงานให้เตรียมพร้อมเมื่องบประมาณได้รับจัดสรรแล้ว จะต้องเดินหน้าทันที เพราะปัจจุบันเชื่อว่าเอกชนก็พร้อมประมูลงาน
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ที่ผ่านมามีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ดำเนินก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ คาดจะเปิดให้บริการในปี 2567 จำนวน 9 โครงการ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - หัวหิน, รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร, ทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 1
รวมไปถึงโครงการมอเตอร์เวย์ บางใหญ่ - กาญจนบุรี ที่จะเปิดทดลองให้บริการ, Smart Pier แม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 5 ท่าเรือ ประกอบด้วย ปิ่นเกล้า พระราม 5 ปากเกร็ด เกียกกาย และพระราม 7, อาคารผู้โดยสารสนามบินกระบี่ รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ และสะพานไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ)
ขณะที่โครงการเตรียมเปิดประมูล และจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2567 จากแผนดำเนินงานในเบื้องต้น กระทรวงฯ ประเมินไว้ว่าจะผลักดันจำนวน 14 โครงการ วงเงินลงทุนรวมกว่า 5.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1.รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร คาดเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย.2567
2.สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี งานโยธา ฝั่งตะวันตก และงานระบบวงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างในเดือน พ.ค.2567
3.ขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา - บ.เมืองใหม่ ค่าก่อสร้าง 510 ล้านบาท ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค.2567
4.Service Center ศรีราชา บน M7 ช่วงชลบุรี - พัทยา วงเงินลงทุน 1,615 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 2567
5.Service Area บางละมุง บน M7 ช่วงพัทยา - มาบตาพุด วงเงินลงทุน 766 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 2567
6.ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.2567
7.ทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล. 402 กับ ทล 4027 และ ทล. 4025 วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.2567
8.สายสีแดงช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,468 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.2567
9.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.2567
10.รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี วงเงิน 37,527 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.2567
11.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช วงเงิน 4,694 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ก.ย.2567
12.ทางพิเศษ กะทู้ - ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ต.ค.2567
13.ทางพิเศษสายจตุโชติ - ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 วงเงิน 24,060 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน พ.ย.2567
14.รถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน นครราชสีมา - หนองคาย วงเงิน 300,000 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค.2567
นอกจากนี้ในปี 2567 กระทรวงคมนาคม จะยังเดินหน้าโปรโมทดึงเอกชนร่วมลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ เนื่องจากการจัดโรดโชว์ที่ผ่านมาทั้งสหรัฐ และญี่ปุ่น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในปีหน้ามีแผนจัดโรดโชว์แก่นักลงทุนต่างชาติ อาทิ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ และหลายประเทศในตะวันออกกลาง ก่อนเริ่มต้นขั้นตอนประมูลในปี 2568 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อรองรับการพัฒนาด้านอื่นๆต่อไป ซึ่งหากโครงการต่างๆล่าช้า นั่นหมายถึงความพร้อมของประเทศก็จะล่าช้าไปด้วย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ